| |||
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย) พระบรมนามาภิไธย หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี ครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ระยะครองราชย์ 12 ปี 99 วัน รัชกาลก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลถัดไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วัดประจำรัชกาล วัดสุทัศนเทพวราราม (โดยอนุโลม) ข้อมูลส่วนพระองค์ พระราชสมภพ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ไฮเดลแบร์ก สาธารณรัฐไวมาร์ สวรรคต 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (20 ปี) พระราชบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชมารดา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (20 กันยายน พ.ศ. 2468 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมศรีสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี") มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ระหว่างกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี พระราชประวัติขณะทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ กับ หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลแบร์ก สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) ขณะที่สมเด็จพระราชบิดาทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมัน โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระมารดาออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงเข้าศึกษาวิชาแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ประทับ ณ วังสระปทุม ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชบิดาทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ (ท.ศ.2329 ป.) หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรส และพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนูแวลเดอลา ซูวิสโรมองต์ และ ทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ การขึ้นทรงราชย์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเมื่อยังทรงพระเยาว์
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยได้รับการเฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 8 พรรษา และยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเมื่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร การเสด็จนิวัติพระนคร
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์จึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 แต่ก็ทรงติดขัดเรื่องพระพลานามัยอีกเช่นกัน หลังจากนั้น รัฐบาลได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีที่โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2479 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการเสด็จนิวัติพระนครนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ คณะรัฐบาลใหม่จึงขอเลื่อนการรับเสด็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซานที่ประทับโดยทางรถไฟมายังเมืองมาเชลล์ เพื่อประทับเรือเมโอเนีย ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เรือพระที่นั่งได้เทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง รัฐบาลได้จัดเรือหลวงศรีอยุธยาออกไปรับเสด็จมายังจังหวัดสมุทรปราการ ณ ที่นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย หลังจากนั้น จึงได้เสด็จโดยเรือหลวงศรีอยุธยาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งนับเป็นการเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัติประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป สวรรคต
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ดูบทความหลักที่: การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวรและทรงเข้ารับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน ในชั้นต้นทางราชการได้มีการแถลงข่าวสาเหตุการสววรคตว่าเป็นอุบัติเหตุจากพระแสงปืนลั่นแต่การสอบสวนในภายหลังกลับพบสาเหตุว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบงเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานชั้นบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสริรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม การเฉลิมพระปรมาภิไธย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไม่ได้ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระบรมขัติยราชอิสสริยยศ รวมทั้ง ยังได้ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น นพปฎลเศวตฉัตร ซึ่งใช้ในการกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ จึงได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช" โดยประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร" นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" และอย่างสังเขปว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร" พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2489 การปกครอง พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง มีพระราชดำริว่า หากปล่อยความขุ่นข้องบาดหมางไว้เช่นนี้ จะเป็นผลร้ายตลอดไป จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ 3 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้จึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป การศาสนา ในการเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า "ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง" ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร การศึกษา ในการเสด็จนิวัติพระนครในครั้งที่ 2 พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต
พบสถานที่สำคัญ! รัชกาลที่8 ทรงหว่านพันธุ์ข้าวที่ทุ่งบางเขน
ที่มา : ไทยโพสต์ Tuesday, 29 May, 2012 - 00:00 พบพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ อยู่ติดวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ม.ราชภัฏพระนครสร้างเป็นอนุสรณ์เทิดพระเกียรติ "พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร.8" เสด็จฯ พร้อมพระอนุชา ร.9 ทอดพระเนตรทำนา-ทรงหว่านข้าวเมื่อปี 2489 หลังจากมีกระแสข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ติดปัญหาเรื่องตำแหน่งก่อสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ หลังจาก รฟม.ยืนยันก่อสร้างตำแหน่งเดิม แต่ได้รับการท้วงติงจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เนื่องจากตัวอาคารสถานีจะไปบดบังทัศนียภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จึงต้องมีการปรับแบบใหม่ โดยจะย้ายสถานีมาไว้ฝั่งตรงข้ามบริเวณหัวมุมถนนรามอินทรา ใกล้ๆ สำนักงานเขตบางเขน ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจตำแหน่งที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 พบว่า ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคาร วิทยาลัยพุทธศาสตร์และปรัชญา สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ด้านถนนพหลโยธิน ใกล้วงเวียนหลักสี่ โดยอาคารวิทยาลัยดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ส่วนพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 สร้างเสร็จแล้ว โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 และอยู่ระหว่างการปรับภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบให้สวยงาม บริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เป็นธรณีสงฆ์ ด้านทิศเหนือของวัดติดถนนพหลโยธินและถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครได้ทำสัญญาเช่าที่จากวัดพระศรีมหาธาตุเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยทางวัดกับมหาวิทยาลัยร่วมกันจัดสร้างสถาบันการเรียนการสอนด้านศาสนาและปรัชญา ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรม เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2551 และคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ นายกฤชญาณ เรืองนุ่ม ไวยาวัจกร วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กล่าวถึงการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อปวงชนชาวไทยอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระอนุชา รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาทอดพระเนตรการทำนาและทรงหว่านข้าวบริเวณทุ่งบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2489 ซึ่งมีหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายยืนยันอย่างชัดเจน พร้อมกับคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยไปร่วมพิธีก็เป็นหลักฐานได้เช่นกัน นายกฤชญาณกล่าวว่า พระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 คือการเสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน พร้อมทรงหว่านข้าวลงบนพื้นนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่แผ่นดินและพสกนิกรชาวบางเขน มีหลักฐานหมายกำหนดการระบุว่าพระองค์เสด็จฯ ถึงวัดเวลา 09.00 น. ทรงนมัสการพระพุทธสิหิงค์ที่พระอุโบสถ จบแล้วทรงพระราชปฏิสันถารกับพระสงฆ์ จากนั้นเสด็จฯ ไปประทับพลับพลาริมวัดพระศรีฯ ด้านเหนือ ชาวนาประมาณ 50 คน แสดงการทำนา และชาวนา 30 คน แสดงการสีและซ้อมข้าวถวายทอดพระเนตร เมื่อเสร็จสิ้นพิธี พระองค์เสด็จฯ ไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "จากหลักฐานภาพถ่ายปรากฏชัดว่า พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 และพระอนุชา รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ประทับในเต็นท์กระโจมริมวัดเพื่อทอดพระเนตรการทำนา หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าวไว้ในผืนนา สำหรับแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ก็ได้ขออนุญาตสำนักพระราชวัง โดยนำภาพถ่ายดังกล่าวมาเป็นต้นแบบและจัดสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติ และเป็นอนุสรณ์แห่งประวัติศาสตร์ให้คนไทยระลึกถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของพระองค์" ไวยาวัจกรวัดพระศรีมหาธาตุฯ กล่าว. ภาพในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่มา : วิกิพีเดีย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเมื่อยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสมเด็จพระราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2489 พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล |
วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น